วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553


คีย์ลายใหญ่
ลายใหญ่ หมายถึงทำนองที่อยู่ในบันไดเสียงทุ้มต่ำ ภาษาไทย-ลาว เรียกเสียงทุ้มต่ำว่า เสียงใหญ่... เสียง ลา เป็นเสียงทุ้มต่ำที่สุดในแคนแต่ละเต้า เมื่อลายใหญ่มีเสียง ลา เป็นศูนย์กลางของทำนอง จึงมีชื่อเรียกว่า ลายใหญ่....
ลายใหญ่ มีเสียงลาต่ำ (เสียง A เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง ใช้โน้ตในทำนองได้เพียง 6 โน้ต คือ ล ท ด ร ม ซ
เสียงฟา เป็นเสียงส้มของลายใหญ่ ... “ส้ม” หมายถึง เปรี้ยว เสียงส้ม หมายถึง เสียงที่ไม่เข้าพวกกับเสียงอื่นเมื่อบรรเลงทำนอง หากนำเสียงนี้มาใช้ร่วมทำนอง จะฟังดูแปร่งๆ หู เปรี้ยวหู ก็เลยเรียกว่าเสียงส้ม
เสียงฟา เมื่อนำมาใช้ในคีย์ลายใหญ่ จะไม่เข้าพวกเขา.... หากจะให้เข้าพวกจริงๆ ต้องเป็นเสียงฟาชาร์ป (F#)
อีกอย่างหนึ่ง ทำนองลายเพลงอีสาน โดยมาก เป็นทำนองโน้ตกระโดด ใช้โน้ตในแต่ละลายเพลง 5 โน้ต ซึ่งโน้ตหลัก 5 โน้ตของลายใหญ่คือ “ล ด ร ม ซ” ส่วนลายเพลงที่มี 6 โน้ต (เพิ่มเสียง ท) และ 7 โน้ต (เพิ่มเสียง ท และ ฟ) จะมีน้อย ถ้ามีบรรเลง ก็เป็นเพลงที่ยืมทำนองมาจากถิ่นอื่น หรือเป็นลายเพลงกำเนิดใหม่
มาตราเสียงของลายใหญ่ จัดอยู่ใน “A Mode” (คือเพลงจบลงด้วยเสียง ลา ... เมื่อเทียบลา = A) ออกสำเนียงไมเนอร์ หรือจะว่าเป็นบันไดเอไมเนอร์ ก็ไม่ผิด



คีย์ลายน้อย
ลายน้อย หมายถึงทำนองที่อยู่ในบันไดแหลมสูง ภาษาไทย-ลาว เรียกเสียงแหลมว่า เสียงน้อย... เสียง เร ซึ่งเป็นเสียงศูนย์กลางของทำนองลายน้อย แหลมกว่าเสียงลา ของทำนองลายใหญ่ จึงได้ชื่อว่า ลายน้อย เพราะมีเสียงแหลมกว่าลายใหญ่
ลายน้อย ก็คือทำนองลายใหญ่ ที่เลื่อนบันไดเสียง จาก เอโหมด มาเป็น ดีโหมด นั่นเอง และออกสำเนียงไมเนอร์เหมือนกัน
ลายน้อย มีเสียงเรต่ำ (เสียง D เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง ใช้โน้ตในทำนองได้ครบทั้ง 7 โน้ต คือ ร ม ฟ ซ ล ท ด
อย่างไรก็ตาม ทำนองลายเพลงอีสาน โดยมาก เป็นทำนองโน้ตกระโดด ใช้โน้ตในแต่ละลายเพลง 5 โน้ต ซึ่งโน้ตหลัก 5 โน้ตของลายน้อยคือ “ร ฟ ซ ล ด” ส่วนลายเพลงที่มี 6 โน้ต (เพิ่มเสียง ม) และ 7 โน้ต (เพิ่มเสียง ม และ ท) จะมีน้อย ถ้ามีบรรเลง ก็เป็นเพลงที่ยืมทำนองมาจากถิ่นอื่น หรือเป็นลายเพลงกำเนิดใหม่
มาตราเสียงของลายน้อย จัดอยู่ใน “D Mode” (คือเพลงจบลงด้วยเสียงเร ... เมื่อเทียบเร = D) ออกสำเนียงไมเนอร์ หรือจะว่าเป็นบันไดดีไมเนอร์ ก็ไม่ผิด



คีย์ลายเซ
ลายเซ คือทำนองลายใหญ่ ที่เลื่อนบันไดเสียง จากเอโหมด มาเป็นอีโหมด หรือ คือทำนองลายน้อย ที่เลื่อนบันไดเสียง จาก ดีโหมด มาเป็น อีโหมด และออกสำเนียงทางไมเนอร์เหมือนกัน
ลายเซ ที่ได้ชื่อว่า ลายเซ เพราะมีทำนองบางตอน เซออกนอกมาตราเสียง ทำให้ฟังดูแปร่งๆ หู และที่เซออกนอกมาตรานี้ ก็เนื่องจากว่า บันไดลายเซ มีเสียงไม่ครบ7 โน้ต ทำให้บางตอน ที่หมอแคนใช้โน้ตเสียงส้มของลายเซ ฟังดูแปร่งๆ หู ดูเหมือนเซออกนอกทำนอง แล้ววกกลับเข้ามาหาทำนองใหม่
ลายเซ มีเสียงมีต่ำ (เสียง E เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง ใช้โน้ตในทำนองได้เพียง 6 โน้ต คือ ม ซ ล ท ด ร
เสียงฟา เป็นเสียงส้มของลายเซ ... “ส้ม” หมายถึง เปรี้ยว เสียงส้ม หมายถึง เสียงที่ไม่เข้าพวกกับเสียงอื่นเมื่อบรรเลงทำนอง หากนำเสียงนี้มาใช้ร่วมทำนอง จะฟังดูแปร่งๆ หู เปรี้ยวหู ก็เลยเรียกว่าเสียงส้ม
เสียงฟา เมื่อนำมาใช้ในคีย์ลายเซ จะไม่เข้าพวกเขา.... หากจะให้เข้าพวกจริงๆ ต้องเป็นเสียงฟาชาร์ป (F#)
อีกอย่างหนึ่ง ทำนองลายเพลงอีสาน โดยมาก เป็นทำนองโน้ตกระโดด ใช้โน้ตในแต่ละลายเพลง 5 โน้ต ซึ่งโน้ตหลัก 5 โน้ตของลายเซคือ “ม ซ ล ท ร” ส่วนลายเพลงที่มี 6 โน้ต (เพิ่มเสียง ฟ) และ 7 โน้ต (เพิ่มเสียง ฟ และ ด) จะมีน้อย ถ้ามีบรรเลง ก็เป็นเพลงที่ยืมทำนองมาจากถิ่นอื่น หรือเป็นลายเพลงกำเนิดใหม่
มาตราเสียงของลายเซ จัดอยู่ใน “E Mode” (คือเพลงจบลงด้วยเสียง มี ... เมื่อเทียบมี = E) ออกสำเนียงไมเนอร์ หรือจะว่าเป็นบันไดอีไมเนอร์ ก็ไม่ผิด



คีย์ลายสุดสะแนน
ลายสุดสะแนน เป็นลายที่เวลาบรรเลงแล้ว ทุกครั้งที่จบลายเพลง ต้องลงที่เสียงซอล อันเป็นเสียงหลักของทำนอง เสมอ และลูกแคนเสียงซอลนี้ มีชื่อว่า สะแนน เมื่อเพลงจบ หรือสิ้นสุดลงที่ลูกสะแนน จึงเรียกลายนี้ว่า “ลายสุดสะแนน” ซึ่งสื่อความหมายว่า สิ้นสุดเพลงที่ลูกสะแนน....
ส่วนอีกความหมายหนึ่งของลายสุดสะแนน คือ ลายนี้เป็นลายที่ไพเราะมากๆ เป็นที่สุดของที่สุดของลายแคนทั้งหลาย ถือว่าเป็นลายชั้นครูของแคน เพราะเล่นได้ยากกว่าลายอื่นใดทั้งหลาย หมายถึงบรรเลงให้ได้ระดับชั้นครูนั้น ยาก... ใครเล่นได้ ก็ถือว่าสุดยอดทางการเป่าแคนเลยทีเดียว ดังนั้น บรรดาลายทั้งหลาย ยากสุดๆ ก็ลายนี้ ไพเราะสุดๆ ก็ลายนี้ จึงเรียกลายนี้ว่า “สุดสะแนน”..... อันหมายถึง สิ้นสุดของเส้นสายแนน… สาว(ชัก)ดึงสายแนนมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็พบจุดสิ้นสุด... จุดสิ้นสุด คือจุดหมายปลายทาง เมื่อพบจุดสิ้นสุดอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายแล้ว ถือว่า สิ้นสุดสายแนน.... การฝึกแคนก็เช่นกัน เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ จนฝึกได้ลายที่ยากที่สุด อันเป็นลายชั้นครูของแคนแล้ว การฝึกแคนนั้น ก็ถือว่าสุดสายแนน เช่นกัน... สายแนนก็คือสะแนน ... สุดสายแนน ก็คือสุดสะแนน (เกี่ยวกับสายแนน ขอให้ค้นดูจากวรรณคดีอีสาน เรื่อง สายแนนนาแก่น)
ลายสุดสะแนน มีเสียงซอล (เสียง G เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง ใช้โน้ตในทำนอง 6 โน้ต คือ ซ ล ท ด ร ม
เสียงฟา เป็นเสียงส้มของลายสุดสะแนน ... “ส้ม” หมายถึง เปรี้ยว เสียงส้ม หมายถึง เสียงที่ไม่เข้าพวกกับเสียงอื่นเมื่อบรรเลงทำนอง หากนำเสียงนี้มาใช้ร่วมทำนอง จะฟังดูแปร่งๆ หู เปรี้ยวหู ก็เลยเรียกว่าเสียงส้ม
เสียงฟา เมื่อนำมาใช้ในคีย์ลายสุดสะแนน จะไม่เข้าพวกเขา.... หากจะให้เข้าพวกจริงๆ ต้องเป็นเสียงฟาชาร์ป (F#) ซึ่งแคนไม่มีเสียงฟาชาร์ป
อีกอย่างหนึ่ง ทำนองลายเพลงอีสาน โดยมาก เป็นทำนองโน้ตกระโดด ใช้โน้ตในแต่ละลายเพลง 5 โน้ต ซึ่งโน้ตหลัก 5 โน้ตของลายสุดสะแนนคือ “ซ ล ด ร ม”
บันไดเสียงลายสุดสะแนน ควรเรียกว่าอยู่ในบันไดจีโหมด ออกสำเนียงเมเจอร์ ไม่ใช่บันได จีเมเจอร์ แม้ว่าทำนองจะจบลงที่เสียง ซอล หรือจี และใช้เสียงซอล เป็นเสียงประสานยืน ก็ตาม ถ้าจะจัดเข้าบันไดทางเมเจอร์ ควรจะเรียกว่าอยู่ในบันไดซีเมเจอร์ แต่ใช้เสียงในขั้นที่5 (dominant) คือเสียง G เป็นเสียงเอก (primary tone ไม่ใช่ Tonic) การจัดเช่นนี้ มีเหตุผลตรงที่ ลายสุดสะแนน มีลายใหญ่เป็นเครือญาติทางไมเนอร์ (relative minor) และลายใหญ่มีเสียง A หรือลา เป็น โทนิค หรือเสียงศูนย์กลาง เพราะฉะนั้น ลายสุดสะแนน จึงต้องมีเสียง C หรือ โด เป็นโทนิค จึงจะถูกต้อง บันไดเสียงที่มีเสียงโด หรือ C เป็นโทนิค ก็คือบันไดซีเมเจอร์ นั่นเอง



คีย์ลายโป้ซ้าย
ลายโป้ซ้าย คือทำนองลายสุดสะแนน ที่เลื่อนบันไดจากบันไดจีโหมด มาเป็นบันไดซีโหมด และออกสำเนียงทางเมเจอร์เหมือนกัน
ชื่อลายโป้ซ้าย ตั้งขึ้นตามอากัปกิริยาของผู้เป่าแคน ที่ต้องใช้นิ้วโป้ซ้าย ปิดรูนับของลูกแคนเสียง โด (ลูกที่1 แพซ้าย) ไว้ตลอดเวลาที่บรรเลงลายโป้ซ้าย
ลายโป้ซ้ายมีเสียงโด (เสียง C เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง ใช้โน้ตในทำนองได้ครบทั้ง 7 โน้ต คือ ด ร ม ฟ ซ ล ท
แต่อย่างไรก็ตาม ทำนองลายเพลงอีสาน โดยมาก เป็นทำนองโน้ตกระโดด ใช้โน้ตในแต่ละลายเพลง 5 โน้ต ซึ่งโน้ตหลัก 5 โน้ตของลายโป้ซ้ายคือ “ด ร ฟ ซ ล”
บันไดเสียงลายโป้ซ้าย ควรเรียกว่าอยู่ในบันได C Mode ออกสำเนียงMajor ไม่ใช่บันได C Major แม้ว่าทำนองจะจบลงที่เสียง โด หรือ C และใช้เสียงโด เป็นเสียงประสานยืน ก็ตาม ถ้าจะจัดเข้าบันไดทางเมเจอร์ ควรจะเรียกว่าอยู่ในบันได F Major แต่ใช้เสียงในขั้นที่5 (dominant) คือเสียง C เป็นเสียงเอก (primary tone ไม่ใช่ Tonic) การจัดเช่นนี้ มีเหตุผลตรงที่ ลายโป้ซ้าย มีลายน้อยเป็นเครือญาติทางไมเนอร์ (relative minor) และลายน้อยมีเสียง D หรือเร เป็น โทนิค หรือเสียงศูนย์กลาง เพราะฉะนั้น ลายโป้ซ้าย จึงต้องมีเสียง F หรือ ฟา เป็นโทนิค จึงจะถูกต้อง บันไดเสียงที่มีเสียงฟา หรือ F เป็นโทนิค ก็คือบันได F Major นั่นเอง



คีย์ลายสร้อย
ลายสร้อย คือทำนองลายโป้ซ้าย ที่เลื่อนบันไดจากบันไดซีโหมด มาเป็นบันไดดีโหมด และออกสำเนียงทางเมเจอร์เหมือนกัน
ชื่อลายสร้อย น่าจะมาจากภาษาไทยลาว ซึ่ง สร้อย(ส่อย) แปลว่า ฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะลายสร้อย คือลายที่ฉีกหรือแตกออกมา จากลายสุดสะแนนและลายโป้ซ้าย แต่เดินทำนองเหมือนทั้งสองลายดังกล่าว ได้ไม่ครบถ้วน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดเรื่องช่วงทบเสียงไม่ครบ 2 ช่วงทบดี... จึงถือว่าเป็นเพียง สร้อย หรือส่วนย่อยของลายทั้งสองเท่านั้น
ลายสร้อยมีเสียงเร (เสียง D เมื่ออยู่บันไดเนเจอรัล) เป็นเสียงศูนย์กลางของทำนอง ใช้โน้ตในทำนอง 6 โน้ต คือ ร ม ซ ล ท ด
แต่อย่างไรก็ตาม ทำนองลายเพลงอีสาน โดยมาก เป็นทำนองโน้ตกระโดด ใช้โน้ตในแต่ละลายเพลง 5 โน้ต ซึ่งโน้ตหลัก 5 โน้ตของลายสร้อยคือ “ร ม ซ ล ท”
บันไดเสียงลายสร้อย ควรเรียกว่าอยู่ในบันได D Mode ออกสำเนียงMajor ไม่ใช่บันได D Major แม้ว่าทำนองจะจบลงที่เสียง เร หรือ D และใช้เสียงเร เป็นเสียงประสานยืน ก็ตาม ถ้าจะจัดเข้าบันไดทางเมเจอร์ ควรจะเรียกว่าอยู่ในบันได G Major แต่ใช้เสียงในขั้นที่5 (dominant) คือเสียง D เป็นเสียงเอก (primary tone ไม่ใช่ Tonic) การจัดเช่นนี้ มีเหตุผลตรงที่ ลายสร้อย มีลายเซเป็นเครือญาติทางไมเนอร์ (relative minor) และลายเซมีเสียง E หรือมี เป็น โทนิค หรือเสียงศูนย์กลาง เพราะฉะนั้น ลายสร้อย จึงต้องมีเสียง G หรือ ซอล เป็นโทนิค จึงจะถูกต้อง บันไดเสียงที่มีเสียงซอล หรือ G เป็นโทนิค ก็คือบันได G Major นั่นเอง



อ้างอิง http://www.youtube.com
http://www.isan.clubs.chula.ac.th
http://www.student.chula.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น