วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ที่มาของลายเพลง

ที่มาของลายเพลง


ลาย ในความหมายว่า ทำนองเพลง นั้น ใช้สำหรับเรียกทำนองเพลงต่างๆ คือ เฉพาะทำนองล้วนๆ เรียกว่าลาย เช่น ทำนองเพลงแมงภู่ตอมดอก ก็เรียกว่าลายแมงภู่ตอมดอก ทำนองเพลงแม่ฮ้างกล่อมลูก ก็เรียกว่า ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก เป็นต้น

ลายเพลงพื้นบ้านอีสาน (ที่เป็นลายโบราณจริงๆ) จะใช้โน้ต ๕ โน้ต ในหนึ่งลายเพลง ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น คงเนื่องมาจาก เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแต่งเพลง มีโน้ตไม่ครบสเกลดี หรืออาจเนื่องมาจากอารมณ์เพลงของผู้บรรเลงเอง เป็นอารมณ์แบบสนุกสนาน ร่าเริง โน้ตเพลง จึงออกมาแบบลักษณะโน้ตกระโดด เพลงที่ใช้โน้ตครึ่งเสียงจะมีน้อย



ที่มาของลายเพลง

ลายเพลงต่างๆ มักมีที่มาจาก ๔ ประการ คือ ธรรมชาติที่ปราฏเฉพาะ อารมณ์ความรู้สึก ประเพณีต่างๆ และวิถีดำรงชีวิต


๑ ธรรมชาติที่ปรากฏเฉพาะ

ผู้แต่งลายเพลง เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส กับธรรมชาติบางอย่าง เกิดความประทับใจ แล้วถ่ายทอดลักษณะของธรรมชาตินั้นๆ ออกมาเป็นดนตรี เป็นทำนองเพลง เช่น

ลายแมงภู่ตอมดอก
จินตนาการถึงแมลงภู่ โผผินบินวน ตอมดอกไม้ จากดอกนี้ ไปดอกนั้น จากดอกนั้น ไปดอกโน้น ผสานกับดอกไม้ ลู่โอนเอนไหวไปมา ยามต้องลม เมื่อดอกไม้ลู่เอน แมลงภู่ ก็โผบินตามดอกไม้ ให้ภาพธรรมชาติที่สวยงาม


ลายน้ำโตนตาด
จินตนาการถึงสายน้ำตก ที่กระโจนจากที่สูง ลงที่ต่ำ กระทบหินผาด้านล่าง บ้างก็กระทบน้ำที่อยู่ด้านล่าง น้ำกระเซ็น เป็นละออง ฟองฝอย กระจาย ประกอบกับเสียงน้ำไหล เสียงน้ำกระทบหินผา น้ำที่ไหลกระทบหินผา รวดเร็ว ต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง


ลายลมพัดไผ่
จินตนาการถึงลำไผ่ ที่โอนเอนไหวตามลม ลำไผ่สูงเรียวยาว โอนเอนไปมา อย่างช้าๆ ประกอบกับ ใบไผ่ต้องลม พลิ้วโบกสะบัดงดงาม แรงลมหนักเบา โยกโอน จังหวะเพลงก็ โยกโอนดุจเดียวกัน


ลายลมพัดพร้าว
จินตนาการถึงยอดมะพร้าว ซึ่งมีก้านมะพร้าวรายรอบ ยามลมโบกพัด ก้านมะพร้าว ไหวเอนนวยนาดไปตามลม ใบเรียวยาวที่เรียงอยู่สองฟากของก้านมะพร้าวสะบัดสั่นระริกน้อยๆ เริงระบำเล่นลม


๒ อารมณ์ความรู้สึก

ผู้แต่ง อาศัยอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง หรืออาจจะจินตนาการถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นดนตรี เป็นทำนองเพลง เช่น

ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก
“นอนซะแม่เยอ หลับตาซะแม่เยอ ผู้สาวเข็ญฝ้าย เดือนหงายถ่าผู้บ่าว...” เสียงแม่หม้ายร้องเพลงกล่อมลูก ดังแว่วมาจากเรือนน้อย อันไกลห่างจากเรือนหลังอื่น...
ลายเพลงนี้ จินตนาการถึงแม่ฮ้าง (แม่หม้าย) ซึ่งยากจนอยู่แล้ว สามียังหนีหาย (หรือตายจาก) ทิ้งลูกน้อยไว้ให้เลี้ยง เมื่อแม่ฮ้างจะออกไปหาอหาร ไปทำงาน ไม่สามารถจะพาลูกน้อยไปด้วยได้ จำต้องกล่อมลูกให้นอนหลับก่อน ทั้งคิดถึงสามี ทั้งห่วงลูกน้อย ทั้งต้องหาเลี้ยงชีวิต... นี่คืออารมณ์ความรู้สึกของแม่ฮ้างขณะกล่อมลูกน้อย... อะไรจะโศกซึ้งปานนี้ อะไรจะรันทดใจ ปานนี้ อะไรจะว้าเหว่ใจปานนี้..


ลายสาวคอยอ้าย
จินตนาการถึงความรักของสาวน้อยชาวบ้าน กับหนุ่มนายากไร้ ชายหนุ่มจำต้องเข้ากรุงเทพฯ หางานทำ หวังเก็บเงินไปแต่งงาน แต่ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบ กลับหายไปนานปี ไม่มีข่าวคราว สาวน้อย ด้วยมั่นในรัก มั่นในสัญญา จึงตั้งตาเฝ้ารอคอย ณ บ้านน้อยปลายนา หวังเพียงว่า หนุ่มนาคนรัก สักวันจะหวนคืน ความรู้สึกนี้ คนที่เฝ้าหวัง คนที่รอคอย โดดเดี่ยว เดียวดาย จะเข้าใจดี


๓ ประเพณีต่างๆ

โดยมาก มักแต่งขึ้นเพื่อประกอบชุดรำ จำลองสถานการณ์ประเพณีต่างๆของอีสาน เช่น

ลายเซิ้งบั้งไฟ... จำลองประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งมีการแห่งแหนขบวนบั้งไฟ ก่อนนำไปจุด


ลายตังหวาย (เพี้ยนมาจากตั้งไหว้)... เป็นการรำบูชาผีฟ้าพญาแถน โดยมีเครื่องเซ่นไหว้มาตั้งไว้ด้วย เพื่อให้พญาแถนเมตตา อำนวยความสุข ความอุดมสมบูรณ์ แก่ชาวประชา


ลายผีตาโขน... จำลองประเพณีงานบุญผีตาโขน ของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย


ลายส่วงเฮือ… จำลองประเพณีงานบุญแข่งเรือ ของชาวอีสานแถบลุ่มแม่น้ำ


๔ วิถีดำรงชีวิต

ผู้แต่งอาจหยิบยกเอาการวิถีดำรงชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เด่นๆ มีเอกลักษณ์ชัดเจน ถ่ายทอดได้ง่าย นำมาถ่ายทอดเป็นชุดการแสดง และแต่งทำนองดนตรีประกอบ เช่น

ลายไทภูเขา... แสดงถึงการหาเลี้ยงชีพของชาวเขา โดยเฉพาะเผ่าผู้ไท โดยหยิบเอาการหาหน่อไม้ และเก็บเครือหญ้านาง มาเป็นประเด็น นำเสนอ ซึ่งหนุ่มสาวที่ขึ้นเขาหาหน่อไม้ ก็มีการเกี้ยวพาราสี หยอกล้อ สนุกสนานกันด้วย


ลายแหย่ไข่มดแดง... แสดงถึงการหาอาหารของชาวอีสาน ช่วงหน้าแล้ง ซึ่งอาหารยอดฮิตคือ ไข่มดแดง บอกเล่าตั้งแต่เตรียมอุปกรณ์ ออกจากบ้าน ตระเวนหารังมดแดง แหย่ไข่มดแดง จนกระทั่ง กลับบ้าน ซึ่งนี่คือ หนึ่งในวิถีชีวิตของชาวอีสาน


ไทภูพาน...บอกเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับชาวไทภูเขา แถบเทือกเขาภูพาน ว่ามีเผ่าอะไรบ้าง แต่ละเผ่ามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร


อ้างอิง www.google.com
www.baanmaha.com
http://www.look-esarn.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น